วิธีปลูก
1. ใช้ยอดแก่ปลูก 3-4 ยอดต่อค้าง เกษตรกรอาจไม่เพาะชำกล้า แต่ใช้วิธีปลูกทันที โดยตัดยอดดีปลีประมาณ 5 ข้อแล้วนำไปปลูกติดกับเสาค้างเลย 3-5 ค้างต่อเสา ฝังลงดินประมาณ 3 ข้อ นำยอดทั้งหมดผูกติดกับเสาค้างเพื่อให้รากยึดเกาะที่เกิดขึ้นใหม่เกาะติดกับเสาค้าง พรางแสงด้วยทางมะพร้าวประมาณ 2 สัปดาห์
2. ค้างที่ใช้ปลูกดีปลีเป็นค้างไม้หรือค้างปูน เสาค้างไม้ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10-15 เซนติเมตร เป็นไม้เนื้อแข็ง มีอายุการใช้งาน 10-20 ต้นดีปลี สามารถยึดเกาะได้เป็นอย่างดี แต่ปัจจุบันเสาค้างไม้หายากและมีราคาสูงจึงใช้เสาคอนกรีตสี่เหลี่ยมขนาด 15x15 เซนติเมตร สูง 2.5 เมตร รากของดีปลีที่ใช้ยึดเกาะกับเสาค้างคอนกรีตไม่สามารถยึดเกาะได้ดีเท่าค้างไม้เพราะเมื่ออุณหภูมิสูงจะเก็บความร้อน
3. สำหรับระยะปลูก ระหว่างต้น 1.5-2 เมตร ระหว่างแถว 2 เมตร โดยจะได้จำนวนต้นในการปลูก 400-600ต้น/ไร่
การดูแลรักษา
1. ใส่ปุ๋ย สำคัญมากเนื่องจากดีปลีเป็นพืชหลายปีและให้ผลผลิตตลอดปี ควรให้ปุ๋ยสม่ำเสมอ ที่ใช้ได้มีทั้งปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ หยอดที่โคนต้น 1 กำมือต่อต้น
2. ให้น้ำสม่ำเสมอ ใช้ระบบการให้น้ำตามร่อง 1 ครั้ง/สัปดาห์ แต่ไม่ควรให้แฉะจนเกินไปเพราะจะทำให้เกิดโรคโคนเน่า
3. กำจัดวัชพืช 2 ครั้ง/เดือน ในช่วงฝนโดยวิธีถางตามแนวร่อง
การปฏิบัติก่อนและหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต
1. ดีปลี ให้ผลผลิตและเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ 6 เดือน ถึง 1 ปี โดยทั่วไปสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 3 ครั้ง/ปี
2. วิธีเก็บเกี่ยว ใช้มือเด็ดที่ก้านขั้วผล สำหรับค้างที่สูงใช้บันไดปีนขึ้นไปเก็บเกี่ยว ใน 1 กิ่ง สามารถเก็บผลดีปลีได้ 2-3 ผลต่อครั้ง การเก็บเกี่ยวแต่ละรุ่นใช้ระยะห่างกัน 1-2 เดือน
3. คัดแยกผลที่มีสีส้มแก่ เนื้อแน่นแข็ง ไม่มีรอยถูกแมลงทำลายออกจากผลที่ไม่มีคุณภาพ
4. นำไปตางห้งทันทีเพื่อไม่ให้เกิดเชื้อรา โดยตากบนภาชนะยกพื้น สะอาด ป้องกันฝุ่นละอองหรือการปนเปื้อนจากจุลินทรีย์จนแห้งสนิท อัตราแห้งของดีปลี 4 กิโลกรัมสด ได้ 1 กิโลกรัมแห้ง
5. เก็บรักษาในภาชนะที่สะอาด ระบายอากาศได้ แห้งเย็นและปราศจากแมลงสัตว์รบกวน
แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
1. ดีปลีเป็นพืชอายุยืน หากมีการบำรุงรักษาที่ดีจะสามารถให้ผลผลิตได้นานถึง 40 ปี ดังนั้นควรเลือกพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์
2. การป้องกันโรคเน่า โคนเน่าเป็นปัญหาสำคัญ ควรให้ความสำคัญเรื่องดินที่ระบายน้ำได้ดี และมีการจัดการที่ดี เช่น การพูนโคนและทำร่องน้ำให้มีความลาดเทเล็กน้อยเพื่อให้น้ำไหลผ่านสะดวก
3. ควรใช้ค้างที่มีความแข็งแรง มีอายุการใช้งานนาน เพราะการเปลี่ยนค้างบ่อยทำให้สิ้นเปลืองและทำให้ดีปลีชะงักการเจริญเติบโต
4. คุณภาพที่ตลาดต้องการ คือ ผลขนาดใหญ่, สีน้ำตาลแดง ไม่ดำคล้ำ แห้งสนิทไม่กรอบเกินไป ไม่มีเชื้อราหรือแมลงติดอยู่ และไม่มีสิ่งปนเปื้อน ดังนั้นการตากแห้งและเก็บรักษาจึงสำคัญมากทำให้ไม่เสียคุณภาพและขายได้ราคาสูง
ลักษณะของดีปลี
- ต้นดีปลี มีถิ่นกำเนิดที่เกาะโมลัคคาส (Moluccas) ในมหาสมุทรอินเดีย แต่ได้มีการนำมาปลูกและแพร่กระจายในประเทศไทยและประเทศอินโดนีเซีย โดยจัดเป็นไม้เถามีรากฝอยออกบริเวณข้อเพื่อใช้ยึดเกาะและเลื้อยพัน เถาค่อนข้างเหนียวและแข็ง มีข้อนูน แตกกิ่งก้านสาขามาก เจริญเติบโตได้ดีในที่ชุ่มชื้น มีแสงแดดรำไร
- ใบดีปลี มีใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะเป็นรูปไข่แกมขอบขนาน ใบมีสีเขียวเข้มเป็นมัน ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร มีเส้นใบออกจากโคนประมาณ 3-5 เส้น ส่วนก้านใบยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร
- ดอกดีปลี หรือ ผลดีปลี ผลสดมีสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดง ลักษณะของผลอัดกันแน่นเป็นช่อรูปทรงกระบอก โคนใหญ่กว่าปลายไม่มาก ปลายเล็กมน ผลมีความยาวประมาณ 2.5-7.5 เซนติเมตร และมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-8 เซนติเมตร ผิวของผลค่อนข้างหยาบ และมีเกสรตัวเมียติดอยู่ ผลย่อยมีเมล็ดเดียว โดยเมล็ดมีขนาดเล็กมาก ลักษณะกลมและแข็ง ผงของผลมีสีน้ำตาล มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว มีรสเผ็ดร้อน ขมปร่า นิยมเก็บผลมาใช้เมื่อผลเริ่มเป็นสีน้ำตาล แล้วนำมาตากแดดให้แห้ง
- ส่วนที่นำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้แก่ ส่วนของดอก ใบ ผลแก่จัดแต่ยังไม่สุก หรือตากแดดให้แห้ง เถา และรากดีปลี
สรรพคุณของดีปลี
- เชื่อกันว่าดีปลีมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลังและช่วยบำรุงกำหนัด (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ ด้วยการใช้ดอกดีปลี 10 ดอก หัวแห้วหมู 10 หัว พริกไทย 10 เม็ด นำมาตำให้ละเอียดผสมกับน้ำผึ้งแท้ ใช้รับประทานก่อนนอนทุกคืน (ดอก)
- ดอกดีปลีช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ดอก, ผลแก่จัด, ราก)
- ผลแก่จัดช่วยบำรุงธาตุไฟ แก้ธาตุไฟหย่อนหรือพิการ ช่วยรักษาอาการกำเริบของธาตุน้ำและธาตุลม (ผลแก่จัด)
- ช่วยแก้ธาตุพิการ แก้ธาตุไม่ปกติ แก้ปฐวีธาตุพิการ แก้วิสติปัฏฐี แก้ปัถวีธาตุ 20 ประการ (ผล, ดอก)
- ใช้เป็นยากระจายลม ระบายความเจ็บปวด (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ดอก, เถา)
- ผงของผลมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว มีรสเผ็ด ขม ปร่า สรรพคุณช่วยขับน้ำลายและทำให้ลิ้นชา (ผล)
- ช่วยแก้ลมอัมพฤกษ์ (เถา)
- ช่วยแก้ลมวิงเวียน ด้วยการใช้ดอกแก่นำมาต้มน้ำดื่ม (ดอก, ผลแก่จัด, ราก)
- ใช้เป็นยาระงับแก้อาการนอนไม่หลับ (ผล)
- ช่วยระงับอชินโรคหรือโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หาย หรือมักเป็น ๆ หาย ๆ (ผล)
- ช่วยแก้ตัวร้อน (ราก)
- ช่วยแก้ไข้เรื้อรังหรืออาการไข้ที่มักเป็น ๆ หาย ๆ ด้วยการใช้ดอกดีปลีล้างสะอาด นำมาบดหรือตำพอหยาบ ๆ ประมาณครึ่งแก้ว นำมาต้มกับน้ำ 4 แก้ว จนเหลือ 1 แก้ว แล้วกรองเอาแต่น้ำมาดื่มกินขณะท้องว่างวันละ 2 ครั้ง และสูตรนี้ยังช่วยลดอาการม้ามโตได้อีกด้วย (ดอก)
- ช่วยแก้อาการหวัด (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- ช่วยแก้อาการหืดไอ (ดอก, ผลแก่จัด)
- ช่วยแก้หืดหอบ (ดอก, ราก)
- ช่วยแก้อาการไอหรือลดอาการไอ มีอาการระคายคอจากเสมหะ ด้วยการใช้ผลแก่แห้งครึ่งผลนำมาฝนกับน้ำมะนาว แทรกเกลือเล็กน้อยแล้วใช้กวาดคอหรือใช้จิบบ่อย ๆ (ดอก, ผลแก่จัด)
- ช่วยแก้หลอดลมอักเสบ (ผลแก่จัด)
- ช่วยแก้อาการเจ็บในลำคอ ด้วยการใช้ดอกดีปลี 3 ดอก ผิวมะนาว 1 ลูก หัวกระเทียม 3 กลีบ และพริกไทยล่อน 3 เม็ด นำทั้งหมดมาตำให้ละเอียด แล้วผสมกับน้ำมะนาวและคลุกให้เข้ากัน นำมาปั้นเป็นลูกกลอนขนาดเท่าเม็ดพุทรา แล้วใช้อมบ่อย ๆ (ดอก)
- ช่วยลดอาการเสียงแหบแห้งได้ ด้วยการใช้ผงดีปลีผสมกับสมอไทยอย่างละ 5 กรัมจนเข้ากัน แล้วผสมกับน้ำอุ่นไว้ดื่มครั้งละ 1 แก้ว วันละ 2 ครั้ง (ผล)
- ช่วยแก้โรคลมบ้าหมู (ผล)
- เถาดีปลีมีรสเผ็ดร้อน ช่วยแก้เสมหะพิการ (ผล, เถา)
- ช่วยแก้เสมหะ ขับเสมหะ แก้เสมหะพิการ น้ำลายเหนียว ด้วยการใช้ผลแก่แห้งครึ่งผลนำมาฝนกับน้ำมะนาว แทรกเกลือเล็กน้อยแล้วใช้กวาดคอหรือใช้จิบบ่อย ๆ (ดอก, ผลแก่จัด, เถา, ราก)
- ช่วยแก้อุระเสมหะหรือเสมหะในทรวงอก (ผล)
- ดอกดีปลีช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน (ดอก)
- ช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียนอันเกิดจากธาตุไม่ปกติ ด้วยการใช้ผลดีปลีแก่แห้งประมาณ 1 กำมือ (10-15 ผล) นำมาต้มเอาน้ำดื่ม 2 ถ้วยแก้วประมาณ 15 นาที แล้วใช้ดื่มแต่น้ำหลังอาหาร วันละ 3 ครั้ง ถ้าไม่มีผลให้ใช้เถาต้มแทนก็ได้ (ผลแก่จัด, เถา)
- เถาดีปลีช่วยแก้อาการปวดฟัน หรือจะใช้ผลนำมาฝนเอาน้ำมาทาบริเวณที่ปวดก็ได้ (ผล, เถา)
- ช่วยแก้อาการอาหารไม่ย่อย ท้องอืดท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่นท้อง ด้วยการใช้ผลดีปลีแก่แห้งประมาณ 1 กำมือ (10-15 ผล) นำมาต้มเอาน้ำดื่ม 2 ถ้วยแก้ว ประมาณ 15 นาที แล้วใช้ดื่มแต่น้ำหลังอาหาร วันละ 3 ครั้ง ถ้าไม่มีผลให้ใช้เถาต้มแทน หรือจะใช้ดอกแก่นำมาต้มเป็นน้ำดื่มก็ได้ (ดอก, ผลแก่จัด, เถา)
- ช่วยแก้อาการปวดท้อง ด้วยการใช้ผลดีปลีแก่แห้งประมาณ 1 กำมือ (10-15 ผล) นำมาต้มเอาน้ำดื่ม 2 ถ้วยแก้วประมาณ 15 นาที แล้วใช้ดื่มแต่น้ำหลังอาหาร วันละ 3 ครั้ง (ผลแก่จัด, เถา, ราก)
- ดอกดีปลีช่วยแก้อาการท้องเสีย (ดอก)
- ช่วยแก้อาการท้องขึ้น (ผลแก่จัด)
- ช่วยแก้อาการท้องร่วง (ผล, ดอก, ราก)
- ช่วยขับลมในลำไส้ให้ผายและเรอ (ดอก, ผลแก่จัด, ราก)
- ใช้ประกอบในตำรับยารักษาโรคเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร ธาตุไม่ปกติ (ผลแก่จัด)
- ผลใช้เป็นยาขับพยาธิในท้องได้ (ผล)
- แก้มุตฆาตหรือโรคขัดปัสสาวะช้ำเลือดช้ำหนอง (เถา)
- ช่วยแก้ริดสีดวงทวารหนัก โดยใช้ดอกดีปลี 10 ดอก เมล็ดงาดำดิบ 20 กรัม นำมาบดให้ละเอียดผสมกับนมดื่มวันละ 1 แก้ว ติดต่อกัน 15 วัน (ผล, ดอก, เถา)
- ผลแก่จัดของดีปลีช่วยบีบมดลูกและใช้เป็นยาขับระดูของสตรี (ผลแก่จัด)
- ผลใช้เป็นยาขับรกให้รกออกมาง่ายภายหลังจากการคลอดบุตรและใช้เวลาโลหิตตกมาก (ผล)
- ช่วยขับน้ำดี เมื่อมีการอุดตันของท่อน้ำดี (ผล)
- ช่วยแก้ตับพิการ (ผล, ดอก)
- รากดีปลีช่วยแก้เส้นแก้พิษอัมพฤกษ์ อัมพาต ดับพิษปัตคาด (ผล, ราก)
- ช่วยแก้อัมพาตและเส้นปัตคาด (ดอก)
- ช่วยแก้พิษคุดทะราดให้ปิดธาตุ (ราก)
- ช่วยแก้คุดทะราด (ดอก, ราก)
- เถาดีปลีช่วยแก้พิษงู (เถา)
- ช่วยแก้อาการปวดเมื่อย แก้เส้นเอ็น (ใบ)
- ช่วยรักษาโรคข้ออักเสบ เกาต์ ไข้รูมาตอยด์ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- ผลนำมาฝนเอาน้ำมาทาแก้อาการฟกช้ำบวมได้ (ผล)
- ผลแก่จัดใช้ปรุงเป็นยาทาภายนอก แก้อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและอาการอักเสบของกล้ามเนื้อ ทำให้ร้อนแดงและช่วยให้มีเลือดมาเลี้ยงบริเวณนั้นมากขึ้น (ผลแก่จัด)
- ดอกดีปลีเป็นส่วนประกอบของตำรับยา “พิกัดเบญจกูล” ในคัมภีร์อายุรเวท ซึ่งประกอบไปด้วย ดอกดีปลี รากช้าพลู เหง้าขิงแห้ง เถาสะค้าน รากเจตมูลเพลิง โดยเป็นตำรับยาที่ใช้ประจำธาตุต่าง ๆ และใช้แก้ในกองฤดู กองสมุฎฐานต่าง ๆ ช่วยกระจายกองลมและโลหิต แก้คูถเสมหะ แก้ลมพานไส้ ช่วยระงับโรคอันบังเกิดแต่ทวัตติงสาหาร (อาการ 32) และช่วยบำรุงกองธาตุทั้งสี่ให้สมบูรณ์ (ดอก)
- ผลดีปลีจัดอยู่ในตำรับยา “พิกัดตรีสันนิบาตผล” (ตรีสัพโลหิตผล) ซึ่งประกอบไปด้วย ผลดีปลี รากพริกไทย และรากกะเพราแดง ที่มีสรรพคุณช่วยแก้ไข้สันนิบาต ช่วยบำรุงธาตุ แก้ในกองลม และช่วยแก้ปถวีธาตุ 20 ประการ (ผล)
- ดีปลีจัดอยู่ในตำรับยา “พิกัดตรีกฎุก” ซึ่งประกอบไปด้วยเครื่องยา 3 อย่าง ในปริมาณเท่ากัน อันได้แก่ ดีปลี ขิงแห้ง และพริกไทย โดยมีสรรพคุณช่วยแก้โรคที่เกิดจากวาตะ (ลม), แก้เสมหะและปิตตะ (ดี) ในกองธาตุ กองฤดู และกองสมุฏฐาน (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- ดีปลีจัดอยู่ในตำรับยา “พิกัดตัวยาเผ็ดร้อน 6 ชนิด” ซึ่งประกอบไปด้วย ดีปลี พริกไทย ใบแมงลัก ผลกระวาน ใบโหระพา ผลผักชีลาว โดยมีสรรพคุณช่วยในการย่อยอาหาร แก้ลมจุกเสียด ช้ำบวม (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- ดีปลีปรากฏอยู่ในตำรับยา “ยาอาภิสะ” ซึ่งเป็นตำราพระโอสถพระนารายณ์ ที่มีดีปลีเป็นองค์ประกอบหลักร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีกหลายชนิด โดยมีสรรพคุณช่วยแก้อาการไอ ผอมแห้ง แก้เสมหะในทรวงอกและลำคอ และช่วยแก้ริดสีดวงทวาร (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- ดีปลีจัดอยู่ในตำรับยา “ยาหอมนวโกฐ” อันมีดีปลีเป็นองค์ประกอบร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ โดยตำรับยานี้มีสรรพคุณช่วยแก้ลมวิงเวียน อาการหน้ามืดตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียนอาเจียน และช่วยแก้ลมจุกแน่นในท้อง (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- ดีปลีจัดอยู่ในตำรับยา “ยาประสะกานพลู” ซึ่งมีส่วนประกอบของดีปลีร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ในตำรับยา โดยมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง อาการจุกเสียดแน่นท้อง ท้องอืดเฟ้อ อาหารไม่ย่อย เนื่องจากธาตุไม่ปกติ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- ดีปลีปรากฏอยู่ในตำรับยา “ยาประสะไพล” ที่มีส่วนประกอบของดีปลีร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ โดยมีสรรพคุณช่วยแก้ระดูมาไม่สม่ำเสมอหรือมาน้อยกว่าปกติของสตรี (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- ดีปลีจัดอยู่ในตำรับยา “ยาเหลืองปิดสมุทร” โดยมีส่วนประกอบของดีปลีร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีก 12 ชนิดในตำรับยา ซึ่งมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูก หรือมีเลือดปน หรืออาการท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้ เป็นต้น (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- ดีปลีจัดอยู่ในตำรับยา “ยาธาตุบรรจบ” ซึ่งมีส่วนประกอบของดีปลีร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ในตำรับยา โดยมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)